วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2552

การประเมินโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนวัดศิริจันทาราม

การประเมินโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนวัดศิริจันทาราม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต 1 ครั้งนี้ ใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ ( CIPP Model ) โดยการประเมินด้านสภาพแวดล้อม ( Context) ด้านปัจจัยเบื้องต้น ( Input ) ด้านกระบวนการ ( Process ) และด้านผลผลิต ( Product ) กลุ่มประชากรที่ใช้ในการประเมินในครั้งนี้ได้แก่ ครูผู้สอน จำนวน 13 คน ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนวัดศิริจันทาราม จำนวน 150 คน และนักเรียนโรงเรียนวัดศิริจันทาราม จำนวน 150 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 313 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
คือ แบบสอบถามเพื่อประเมิน จำนวน 4 ชุด เป็นแบบสอบถามแบบตรวจรายการและแบบมาตราส่วนประมาณค่า สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้คำนวณด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูป
ผลการประเมินสรุปได้ดังนี้
1. ด้านสภาพแวดล้อม พบว่าวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการพัฒนา
สิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนวัดศิริจันทาราม สำนักงานเขตพื้นที่ปทุมธานี เขต 1
เหมาะสม และมีความเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก
2. ด้านปัจจัยเบื้องต้น พบว่า ความคิดเห็นในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนของครูผู้สอน ผู้ปกครองนักเรียน มีความคิดเห็นอยู่ในระดับเห็นด้วย
ปัญหาด้านนี้ คือ โรงเรียนได้รับงบประมาณในการดำเนินการเพียงพอใน
การดำเนินโครงการเท่านั้น แต่ขาดความคล่องตัวในการดำเนินการต่อไป
3. ด้านกระบวนการ พบว่า ครูผู้สอนส่วนใหญ่เคยได้รับการศึกษาอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โรงเรียนมีการประสานงานกับท้องถิ่นและชุมชนในการร่วมกันอนุรักษ์พัฒนา
สิ่งแวดล้อม และมีการบูรณาการการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมภายใน
โรงเรียนระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้
4. ด้านผลผลิต พบว่า โรงเรียนมีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง มีถังใส่ขยะเพียงพอต่อความต้องการของนักเรียน มีต้นไม้ยืนต้น ไม้ดอก ไม้ประดับ และสวนหย่อมบริเวณโรงเรียน และมี
กิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีประโยชน์ เช่น กิจกรรมเปลี่ยนขยะเป็นเงินเป็นต้น
สำหรับความคิดเห็นในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนของนักเรียนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นอยู่ในระดับเห็นด้วย



ข้อเสนอแนะ
1. ควรดำเนินโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนวัดศิริจันทารามต่อไป ด้วยการจัดกิจกรรมที่หลากหลายให้มากขึ้นกว่าเดิมแต่ยังคงรูปแบบของกิจกรรมเดิมที่ดีอยู่แล้วต่อไป
2. ควรจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการดำเนินการเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนให้มีความคล่องตัวและสามารถดำเนินการด้วยความสะดวก
3. ควรเชิญวิทยากรในท้องถิ่น เช่น ป่าไม้จังหวัด เกษตรอำเภอ ผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เข้ามาประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับข้อตกลงต่าง ๆ ในการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนและชุมชนให้เป็นไปในทางเดียวกันเพื่อเป็นการอนุรักษ์และรักษาสภาพแวดล้อมให้คงอยู่ต่อไป
4. โรงเรียนควรสนับสนุนให้ครูผู้สอนและนักเรียนรวมไปถึงผู้ปกครองได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมหรือศึกษาดูงานในสถานที่ที่เป็นตันแบบในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ประสบความสำเร็จในการจัดทำโครงการดังกล่าว
5. ควรมีการประเมินการปฏิบัติงานตามโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนเป็นประจำต่อเนื่องทุก ๆ ปีการศึกษา เพื่อกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกและตระหนักถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่มีประโยชน์กับตัวเราเป็นอย่างมาก
6. ควรมีการประชาสัมพันธ์โครงการให้ทั่วถึงกันในทุกภาคส่วนเพื่อความร่วมมือในการปฏิบัติตามเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน ชุมชน จังหวัด ประเทศ ในโอกาสต่อ ๆ ไป








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น